ญาณินท์ ดวงจันหอม
วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
จุดกำเนิดกฎหมายไทย
จุดกำเนิดกฎหมายไทย
กฎหมายเป็นเครื่องควบคุมประพฤติการณ์ในสังคม พัฒนาขึ้นมาจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสมาชิกในสังคม กับทั้งเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นเป็นไปโดยราบรื่น สนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ดังภาษิตละตินที่ว่า “ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นมีสังคม ที่ใดมีสังคม ที่นั้นมีกฎหมาย ด้วยเหตุนั้น ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นจึงมีกฎหมาย” (ละติน: Ubi homo, ibi societas. Ubi societas, ibi ius. Ergo ubi homo, ibi ius) ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงได้ชื่อว่าเป็น “ปทัสถานทางสังคม” (อังกฤษ: social norms) ซึ่งบางทีก็เรียก “บรรทัดฐานของสังคม”
วิวัฒนาการกฎหมายไทย
ตามคำไทยแต่เดิม “กฎหมาย” หมายแต่เพียงว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินที่โปรดให้กดไว้หมายไว้เพื่อใช้บังคับเป็นการคงทนถาวร จะเห็นได้ในพงศาวดารเหนือ (ฉบับของพระวิเชียรปรีชา) ตอนที่พระยาพสุจราชแห่งราชวงศ์พระร่วงได้จัดการแต่งบ้านแต่งเมืองออกรับกองทัพพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีความว่า “แล้วให้กำหนดกฎหมายไว้ทุกหน้าด่าน แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองกัมโพชนคร ให้กำหนดกฎหมายสืบ ๆ กันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมือง… ฯลฯ” ในภาษาไทยแต่เดิม กฎหมายจึงหมายถึงคำสั่งที่ได้กดไว้หมายไว้ให้เป็นที่แน่นอนเท่านั้น ทั้งนี้ คำว่า “กฎหมาย” เป็นคำกริยา ซึ่งประกอบขึ้นจากกริยา “กฎ” มีความหมายว่า “จดบันทึก, จดไว้เป็นหลักฐาน, ตรา” อันเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรว่า “กต่” มีความหมายว่า “จด” + นาม “หมาย” ซึ่งแปลว่า “หนังสือ”
แต่โบราณกาล เพื่อให้คำสั่งอันเป็นกฎหมายเป็นของขลังและเป็นที่เคารพเชื่อฟัง จึงมักมีการอ้างเอาความศักดิ์สิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์ว่าเป็นที่มาของกฎหมายหรือเป็นที่มาของอำนาจที่ใช้ออกกฎหมาย เช่น ของอังกฤษ ในตอนต้นของกฎหมายมักเขียนว่า “อาศัยพระราชอำนาจอันทรงได้รับประทานจากเทพยุดาฟ้าดิน สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้ดังต่อไปนี้” (The Queen, by the Grace of God, enacts as follows:)
ถึงแม้ว่าชั้นเดิม กษัตริย์จะชื่อว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์คือมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แต่การจะสั่งให้เป็นกฎหมายนั้นก็ต้องอาศัยอ้างเหตุอ้างผลเพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นคำสั่งที่เป็นธรรม เหตุผลที่ยกขึ้นส่วนมากคือจารีตประเพณี เช่น กฎหมายไทยที่ว่า “อันว่าสาขาคดีทั้งหลายดั่งพรรณนามานี้ อันบูราณราชกษัตริย์มีบุญญาภินิหารสมภารบารมีเป็นอธิบดีประชากร ผจญข้าศึกเสร็จแล้ว แลเป็นอิสรภาพในบวรเศวตรฉัตร ประกอบด้วยศีลสัจวัตรปฏิบัติเป็นอันดี…ทรงพระอุตสาหะพิจารณาคำนึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ แล้วมีพระราชบัญญัติดัดแปลงตกแต่งตั้งเป็นพระราชกำหนดบทพระอัยการไว้โดยมาตราเป็นอันมาก…มาตราบเท้าทุกวันนี้”
สำหรับประเทศไทยนั้นเดิมทีมีกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเรียกเป็นการทั่วไปว่า “พระอัยการ” เป็นกฎหมายแม่บทเสมอรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน พระอัยการนี้ต่อมารู้จักกันในชื่อ “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระขึ้นใหม่เพราะของเก่าล้วนสูญหายไปเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตกก็มี วิปริตผิดเพี้ยนไปก็มี เป็นต้น แต่พระอัยการนั้นพึงเข้าใจว่าเป็นกฎหมายก่อนกฎหมายตราสามดวง แต่มีวิวัฒนาการไปเป็นกฎหมายตราสามดวง
พระอัยการดังกล่าวมีที่มาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย เนื่องจากเชื่อกันมาพระอัยการนี้เป็นของที่เทวดาบัญญัติขึ้น และจารึกไว้ที่กำแพงจักรวาลตรงสุดป่าหิมพานต์ มนุษย์เราเพียงแต่ไปพบมา จึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรือเพิ่มเติมอย่างไรไม่ได้ทั้งสิ้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชอธิบายเกี่ยวกับระบบกฎหมายเก่าของไทยว่า
แต่บทพระอัยการนี้เป็นของเก่า เขียนมาแต่โบราณ บางทีก็มีบทซับซ้อนกัน บางทีก็เขียนด้วยภาษาเก่าจนไม่สามารถจะเข้าใจได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบทพระอัยการเช่นนี้ก็เป็นหน้าที่ของขุนศาลตระลาการจะต้องนำบทพระอัยการที่เป็นปัญหานั้นขึ้นถวายให้ทอดพระเนตร และกราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัยว่าเป็นอย่างไรกันแน่ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงพระราชวินิจฉัย…พระราชวินิจฉัยนั้นก็ถือว่าเป็นกฎหมายเอาไว้ใช้เป็นหลักได้ต่อไป เรียกว่าพระราชบัญญัติ ส่วนพระราชกฤษฎีกานั้นมีบทลงโทษเช่นเดียวกับกฎหมาย แต่ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นระเบียบภายในพระราชฐานหรือเท่าที่เกี่ยวกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น มิได้ใช้บังคับในบ้านเมืองทั่วไปเหมือนกับกฎหมาย อีกอย่างหนึ่งคือพระราชกำหนด พระราชกำหนดนั้นแต่ก่อนมิได้เป็นกฎหมาย แต่เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งใช้กับข้าราชการที่รับราชการอยู่เท่านั้น จะได้ใช้บังคับแก่ราษฎรโดยทั่วไปก็หาไม่
ปรากฎในเสภาขุนช้างขุนแผนว่าพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์เท่านั้น ในตอนที่ขุนช้างจะเข้าไปถวายฎีกาฟ้องร้องพลายงามต่อสมเด็จพระพันวษา บังเอิญว่าทรงเสด็จประพาสทางเรือ ขุนช้างจึงไปรอถวายฎีกาอยู่ริมน้ำ พบเรือพระที่นั่งกลับมาพอดีก็โจนลงน้ำลอยคอชูหนังสือฎีกาเข้าไปถวาย ณ เรือพระที่นั่ง ทำเอาบรรดาฝีพายและผู้อยู่บนเรือตกในไปตาม ๆ กัน แต่การถวายฎีกานั้นมีธรรมเนียมว่าราษฎรมีสิทธิถวายที่ไหนก็ได้ และพระมหากษัตริย์ก็จะต้องทรงหยุดรับเสมอไป สมเด็จพระพันวษาจึงโปรดให้รับฎีกาของขุนช้างไว้ และทรงให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่ให้ชาวพนักงานคอยอารักขาพระองค์ให้จงดี อย่าให้ผู้ใดผลุบเข้ามาได้โดยง่ายเช่นครานี้ มิเช่นนั้นต้องระวางโทษถึงประหารชีวิต ดังเสภาว่า
วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ ฯ
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช เสด็จคืนนิเวศน์พอจวบค่ำ
ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ เรือประจำแหนแห่เซ็งแซ่มา
พอเรือพระที่นั่งประทับที่ ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า
ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา ผุดโผล่ดงหน้ายึดแคมเรือ
เข้าตรงโทนอ้นต้นกัญญา เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ
มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา
ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ มิใช่กระหม่อมฉานล้านเกศา
สู้ตายขอถวายซึ่งฎีกา ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า ฯ
๏ ครานั้นสมเด็จพระพันวษา ทรงพระโกรธาโกลาหล
ทุดอ้ายชั่วมิใช่คน บนบกบนฝั่งดังไม่มี
ใช่ที่ใช่ทางวางเข้ามา หรืออ้ายช้างเป็นบ้ากระมังนี่
เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที ตีเสียสามสิบจึงปล่อยไป
มหาดเล็กก็รับเอาฟ้องมา ตำรวจคว้าขุนช้างหาวางไม่
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้ พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์ แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน ฯ
ระเบียบกฎหมายไทยเป็นดังนี้มาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยก็ได้ยึดแนวทางตรากฎหมายอย่างอังกฤษ กระนั้น คำเรียกกฎหมายก็เฝืออยู่ เช่น บางฉบับตราเป็นพระราชกำหนดแต่ให้ชื่อว่าพระราชบัญญัติก็มี ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติสมัยนั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน ครั้นต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญสำหรับปกครองแผ่นดินขึ้นแล้ว ก็มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นฝ่าย ๆ ไป อำนาจในการออกกฎหมายจึงตกแก่ฝ่ายนิติบัญญัติ และกฎหมายก็เป็นระบบระเบียบดังกาลปัจจุบัน
กฎหมายในยุคสุโขทัย
ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ( ปี พ.ศ. ๑๘๒๘-๑๘๓๕ ) เรียกกันว่า กฎหมายสี่บท ได้แก่
๑) บทเรื่องมรดก
๒) บทเรื่องที่ดิน
๓) บทวิธีพิจารณาความ
๔) บทลักษณะฎีกา
และมีการเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะโจรลงไปในครั้งรัชสมัยพญาเลอไทย กษัตริย์สุโขทัยองค์ที่ ๔ ซึ่งมีส่วนของการนำกฎหมายพระธรรมศาสตร์มาใช้ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพราหม ซึ่งได้มีส่วนขยาย ที่เรียกว่า ‘พระราชศาสตร์’ มาใช้ ประกอบด้วย
กฎหมายกรุงศรีอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาเป็นชารธานีแห่งที่สองของไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๒๓๑๐ พระมหากษัตริย์ในยุคนั้น ได้สร้างกฎหมายซึ่งเรียกว่าพระราชศาสตร์ไว้มากมาย พระราชศาสตร์เหล่านี้ เมื่อเริ่มต้นได้อ้างถึงพระธรรมศาสตร์ฉบับของมนูเป็นแม่บท เรียกกันว่า ‘มนูสาราจารย์’ พระธรรมศาสตร์ฉบับของมนูสาราจารย์นี้ เป็นกฎหมายที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย เรียกว่าคำภีร์พระธรรมศาสตร์ ต่อมามอญได้เจริญและปกครองดินแดนแหลมทองมาก่อน ได้แปลต้นฉบับคำภีร์ภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาบาลีเรียกว่า ‘คำภีร์ธรรมสัตถัม’ และได้ดัดแปลงแก้ไขบทบัญญัติบางเรื่องให้มีความเหมาะสมกับชุมชนของตน ต่อจากนั้นนักกฎหมายไทยในสมัยพระนครศรีอยุธยาจึงนำเอาคำภีร์ของมอญของมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายของตน ลักษณะกฎหมายในสมัยนั้นจะเป็นกฎหมายอาญาเสียเป็นส่วนใหญ่ ในยุคนั้น การบันทึกกฎหมายลงในกระดาษเริ่มมีขึ้นแล้ว เชื่อกันว่าการออกกฎหมายในสมัยก่อนนั้น จะคงมีอยู่ในราชการเพียงสามฉบับเท่านั้น ได้แก่ ฉบับที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้งาน ฉบับให้ขุนนางข้าราชการทั่วไปได้อ่านกัน หรือคัดลอกนำไปใช้ ฉบับสุดท้ายจะอยู่ที่ผู้พิพากษาเพื่อใช้ในการพิจารณาอรรถคดี
กฎหมายกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่๑ เห็นว่ากฎหมายที่ใช้กันแต่ก่อนมานั้นขาดความชัดเจน และไม่ได้รับการจัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการศึกษาและนำมาใช้ จึงโปรดเกล้าให้มีการชำระกฎหมายขึ้นมาใหม่ ในคำภีร์พระธรรมศาสตร์ โดยนำมารวบรวมกฎหมายเดิมเข้าเป็นลักษณะๆ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ และนำมาประทับตราเข้าเป็นตราพระราชสีห์ ซึ่งเป็นตราของกระทรวงมหาดไทย ตราคชสีห์ ของพระทรวงกลาโหม และตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราของคลัง บนหน้าปกแต่ละเล่ม ตามลักษณะระของการปกครองในสมัยนั้น กฎหมายฉบับนั้นเรียกกันว่า ‘กฎหมายตราสามดวง’ กฎหมายตราสามดวงนี้ ถือเป็นประมวลกฎหมายของแผ่นดินที่ได้รับการปรับปรุงให้มีความรัดกุม ยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญา นอกจากจะได้บรรจุพระธรรมศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ยังคงมีกฎหมายสำคัญๆอีกหลายเรื่อง อาทิ กฎหมายลักษณะพยาน ลักษณะทาส ลักษณะโจร และต่อมาได้มีการตราขึ้นอีกหลายฉบับ ต่อมาประเทศไทยมีการติดต่อสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศต่างๆมาก พึงเห็นได้ว่ากฎหมายเดิมนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ จนทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นอกจากนั้นยังไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ทุกกรณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตรากฎหมายขึ้นใหม่ อาทิ พระราชบัญญัติมารดาและสินสมรส ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดวางระบบศาลขึ้นมาใหม่ และได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทั้งจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และลังกามาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และในสมัยนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ได้แก้ไขชำระกฎหมายตราสามดวงเดิมขึ้นใหม่ และจัดพิมพ์ขึ้นในชื่อของ ‘กฎหมายราชบุรี’ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ทำการร่างกฎหมายลักษณะอาญา กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส กฎหมายวิธีบัญญัติ ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายที่สำคัญหลายๆฉบับ และในรัชสมัยต่อมา กฎหมายไทยได้ถูกพัฒนาสืบต่อกันยาวนาน ตราบจนทุกวันนี้ มีการจัดทำประมวลกฎหมาย และร่างกฎหมายต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายไทยนั้น ได้รับอิทธิพลทั้งจากกฎหมายภาคพื้นยุโรป อาทิกฎหมายอังกฤษ กฎหมายฝรั่งเศส รวมทั้งจารีตประเพณีเดิมของไทยด้วย (มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ ๖ ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก) และได้รับการแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา มีกฎหมายที่ทันสมัยถูกตราขึ้นใหม่ๆตลอด เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ
เขียนโดย คนดีศรีสังคม แห่งสยาม ที่ 23:55
วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558
ชื่อ นางสาวญาณินท์ ดวงจันหอม
ชื่อเล่น แพร
อายุ 16 ปี
วันเกิด วันที่ 11 ธันวาคม 2541
กรุ๊ปเลือด โอ
เพื่อนสนิท ชุติมา(อี่) บุษยา(มิ้ว) กชมน(นุ่น) จริญญา(เตย) อารียา(เมย์) กชกร(มาย) ศุภนิดา(ก้อย)
อาหารที่ชอบ ข้าวผัดกระเพราไข่ดาว บะหมี่เหลืองเย็นตาโฟ
งานอดิเรก อ่านหนังสือนิยาย ฟังเพลง นอน
อาชีพที่บ้าน ทำสวนชมพู่ ฝรั่ง
สีที่ชอบ สีฟ้า
เพลงที่ชอบ สมการ ห้องนอนฯลฯ
คติประจำใจ ไม่มีอะไรที่เป้นไปไม่ได้
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)